ตรวจการแพ้อาหาร (Food allergy testing)

การแพ้อาหารเกิดจากสาเหตุใด

อาหารคือหนึ่งในปัจจัย 4 ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดของมนุษย์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ  ซึ่งบนโลกใบนี้มีอาหารให้มนุษย์เลือกรับประทานอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น หมู เนื้อ แกะ ไก่ เป็ด ปลา หอย กุ้ง ปู กบ แมลงต่างๆ และเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีอาหารที่ได้จากสัตว์ เช่น ไข่ น้ำนม ไขมันสัตว์ อาหารจำพวกพืชชนิดต่างๆ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เมล็ดถั่ว พืชชนิดกินหัว เช่น เผือก มัน ฯลฯ รวมถึงอาหารสังเคราะห์ อาหารแปรรูป และสารปรุงแต่งอาหาร รส กลิ่น สี ต่างๆ เป็นต้น

ด้วยความหลากหลายของอาหารที่มีส่วนประกอบของสารอาหารแต่ละชนิดแตกต่างกันออกไป ซึ่งสารที่มีอยู่ในอาหารนอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายของเราแล้ว ในทางกลับกันในบางรายอาจก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายขึ้นได้ หรือที่เรียกว่า “แพ้อาหาร” นั่นเอง

Food Allergy หรือ การแพ้อาหาร เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราได้รับประทานอาหารบางชนิดเข้าไป โดยอาจทำให้เกิดอาการที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ ผิวหนัง หรือระบบหลอดเลือดและหัวใจ ในบางรายอาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งมีอาการที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต สาเหตุเกิดขึ้นได้จาก

  1. พันธุกรรม
  2. ปัจจัยทางสรีระของร่างกายสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทั่วไป ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้วจะมีโอกาสแพ้อาหารได้มากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคภูมิแพ้
  3. ภาวะต่างๆ ของร่างกายที่ไปเพิ่มความสามารถของลำไส้ให้เพิ่มการดูดซึมสารที่มีโมเลกุลใหญ่ (macromolecules) เข้าสู่ร่างกาย เช่น เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เป็นภาวะที่เสี่ยงต่อการแพ้อาหารเพิ่มขึ้น
  4. เกิดจากสารธรรมชาติที่อยู่ในอาหาร และส่วนมากเป็นสารพวกโปรตีน ส่วนสาเหตุการแพ้อาหารที่เกิดจากสารปนเปื้อนและสารเติมแต่งในอาหารพบได้น้อย ในกรณีที่เกิดการแพ้สารเติมแต่งในอาหาร อาจเกิดจากการที่สารเติมแต่งนั้นมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ หรืออาจมีโปรตีนปนเปื้อนในสารเติมแต่งในอาหาร ซึ่งทำให้แพ้ได้

ปกติในแต่ละวันเราจะรับประทานอาหารกันหลากหลาย ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะบอกว่าแพ้อะไร โดยในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ อาจจะแพ้อาหารได้มากกว่าผู้ใหญ่โดยเฉพาะ ไข่ นม และข้าวสาลี เมื่อโตขึ้นอาการแพ้อาจจะดีขึ้น แต่ถ้าหากแพ้ถั่วและอาหารทะเล อาการแพ้จะเป็นตลอดชีวิต ถ้าหากแพ้บ่อยและรุนแรง

การพบแพทย์จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ดังนั้น ยศการ คลินิก ให้บริการตรวจการแพ้อาหาร (Food allergy testing) เพื่อทำการทดสอบว่าคุณแพ้อะไร เป็นการหลีกเลี่ยง และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตคุณนั่นเอง

อาหารอะไรบ้างที่พบบ่อยว่าทำให้เกิดการแพ้

  • อาหารทะเลหรือสัตว์น้ำประเภทที่มีเปลือก เช่น กุ้งและปู
  • ปลา
  • ข้าวสาลี
  • ไข่
  • นมวัว
  • ถั่วลิสง ถั่วเหลือง
  • ถั่ว จากพืชยืนต้น เช่น อัลมอนต์ ฮาเซลนัท วอลนัท พีแคน มะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ

อาการของผู้ป่วยแพ้อาหาร

อาการของผู้ที่แพ้อาหารอาจจะเกิดขึ้นทันที หรืออาจจะนาน 2 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหาร แม้ว่าจะรับอาหารที่แพ้ปริมาณเพียงเล็กน้อย อาการที่พบได้แก่

  • ผื่นลมพิษ บวมและคันบริเวณผิวหนัง
  •  คันตา น้ำตาไหล
  •  อาการเหน็บหรือคันในปาก
  • บวมบริเวณริมฝีปาก หน้า ลิ้น คอ และส่วนอื่นของร่างกาย
  • กลืนลำบาก
  • คัดจมูก หายใจเสียงดังหวีดเหมือนคนหอบหืด หายใจลำบาก
  • ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน
  • เวียนศีรษะหน้ามืดเป็นลม

ในบางรายเมื่อแพ้อาหารอาจกระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งอาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาการของโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงมักจะมีอาการเหมือนกับอาการแพ้อาหารดังข้างต้นและอาจนำไปสู่อาการต่อไปนี้

  • หายใจลำบาก หายใจมีเสียงและไอ เนื่องจากทางเดินหายใจหดตัวตีบแคบลง
  • คอบวม หรือมีความรู้สึกว่ามีก้อนบวมอยู่ในคอ ซึ่งทำให้หายใจติดขัด
  • มีอาการช็อก สับสนหรือวิงเวียน เนื่องจากความดันโลหิตลดลงอย่างกะทันหัน
  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
  • รู้สึกกลัวและมีความวิตกกังวลอย่างฉับพลันและรุนแรง

เราจะทราบได้อย่างไรว่ามีอาการแพ้อาหาร

ร่างกายของบางคนมีปฏิกิริยาที่เรียกกันว่า ปฏิกิริยาไวเกิน (ปฏิกิริยาภูมิแพ้) เมื่อรับประทานอาหารหรือสารเสริมสุขภาพบางชนิด คนส่วนใหญ่ที่แพ้อาหารมักจะมีอาการเมื่อรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาดังกล่าว ในการพิจารณาว่าแพ้อาหารหรือไม่นั้น อาการจะต้องปรากฏอย่างเด่นชัดเมื่อรับประทานอาหารที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้ โดยอาการดังกล่าวจะต้องหายไปหรือทุเลาลงเมื่อหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น และจะกลับมาปรากฏอีกครั้งเมื่อรับประทานอาหารชนิดเดียวกันอีก

อาหารส่วนใหญ่ที่เด็กมักจะแพ้ ได้แก่ โปรตีนในนมวัว ไข่ขาวของไข่ไก่ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ปลาค็อด และถั่วลิสง

ส่วนในผู้ใหญ่ อาหารที่ทำให้เกิดอาหารแพ้ ได้แก่ ปลา หอย ปู กุ้ง และปลาหมึก

คนที่มีอาการแพ้อาหารส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มาก แต่ในบางรายหากแพ้มากอาจถึงกับเสียชีวิตได้ โดยอาการแพ้อาหารมักจะหายไปเมื่อหยุดรับสารนั้น แต่บางคนอาการจะคงอยู่เป็นเวลาหลายวัน และอาการมักจะเกิดหลังรับประทาน โดยมากไม่เกิน 2 ชั่วโมง

แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่ามีอาการแพ้อาหาร ให้ลองดูข้อมูลต่อไปนี้ว่าตรงกับเราหรือไม่ เพื่อเช็คความเป็นไปได้ว่าเราอาจมีอาการแพ้อาหารเกิดขึ้นได้

  • มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวและตัวเองหรือไม่
  • มีอาการของโรคภูมิแพ้หรือไม่ เช่น โรคหอบหืด โรคผื่นแพ้ จามหรือคัดจมูก
  • ได้รับอาหารบางอย่างแล้วเกิดอาการหรือไม่
  • ประวัติเกิดผื่นหลังจากรับประทานอาหารไปกี่ชั่วโมง
  • ก่อนออกผื่นกำลังทำอะไรอยู่ (เช่นออกกำลังกาย)
  • ควรจะมีสมุดจดรายการอาหารที่รับประทานก่อนเกิดผื่น 12 ชั่วโมง และควรจะจดอาการต่างๆ ที่เกิดด้วย จะได้พบความสัมพันธ์ของอาหารและผื่น
  • เมื่อสงสัยว่าเกิดจากอาหารประเภทใดก็ให้หยุดอาหารประเภทนั้นสัก 10-14 วัน แล้วสังเกตอาการว่าดีขึ้นหรือไม่

ทำไมเราควรตรวจการแพ้อาหาร (Food allergy testing)

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาแพ้อาหาร ดังนั้น ความจำเป็นในการตรวจการแพ้อาหาร (Food allergy testing) จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม หากคิดว่าตนเอง หรือบุตรหลานเป็นภูมิแพ้อาหาร สามารถเข้ามารับคำปรึกษาและตรวจการแพ้อาหารได้ที่ ยศการ คลินิก เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการ และตรวจร่างกายเพื่อหาอาการแสดงของระบบต่างๆ และทำการทดสอบภูมิแพ้  หรือการตรวจเลือดเพื่อช่วยในการวินิจฉัยชนิดของอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากอาการแพ้ ซึ่งในบางรายที่แพ้อย่างรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายของเรา หรือบุคคลอันเป็นที่รัก จึงควรตรวจการแพ้อาหาร (Food allergy testing) เพื่อเซฟตัวเราและคนที่เรารักจะดีที่สุด

แพ้อาหารมีโอกาสหาย หรือไม่ 

  • ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร พบว่าถ้าให้งดอาหารที่แพ้ติดต่อกันนาน 1-2 ปี  ก็มีโอกาสหายแพ้ได้  ยกเว้นการแพ้อาหารทะเล  และถั่วลิสง ซึ่งมักแพ้ตลอดชีวิต
  • สำหรับเด็กที่แพ้นมวัว พบว่ามีโอกาสหายแพ้ 50% เมื่ออายุ 1 ปี และหายแพ้ 85%  เมื่ออายุ 3 ปี ส่วนที่เหลือ 15% จะมีอาการแพ้ตลอดไป และ 25% ของเด็กที่แพ้นมวัว มักมีอาการแพ้อาหารอื่นๆ ร่วมด้วย

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อการแพ้อาหาร

ยังไม่เป็นที่ทราบอย่างชัดเจนว่าเหตุใดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจึงทำงานผิดพลาด จนเข้าใจว่าโปรตีนในอาหารบางชนิดนั้นเป็นอันตรายต่อร่างกายส่งผลทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้นมา อย่างไรก็ตามมีการระบุปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุต่อการเกิดโรคภูมิแพ้อาหารไว้ดังนี้

  1. มีประวัติของคนในครอบครัวเป็นโรคหืด ผิวหนังอักเสบ (Eczema) ลมพิษ หรือโรคภูมิแพ้ เช่น ไข้ละอองฟาง
  2. ผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว มีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะแพ้อาหารชนิดอื่นๆ อีก
  3. การแพ้อาหารจะพบมากในเด็ก โดยเฉพาะเด็กทารกและเด็กวัยกำลังหัดเดิน แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นระบบทางเดินอาหารจะเจริญเติบโตเต็มที่และร่างกายอาจมีการดูดซึมอาหารหรือสารอาหารที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้อาหารน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม การแพ้อาหารที่เกิดขึ้นกับเด็กมักมีสาเหตุมาจากนมวัว ถั่วเหลือง ข้าวสาลีและไข่ ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าการแพ้อาหาร เช่น ถั่วหรือสัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ซึ่งมีแน้วโน้มที่จะเป็นไปตลอดชีวิต
  4. เด็กที่มีประวัติเป็นโรคผิวหนังอักเสบ มีโอกาสที่จะพัฒนาจนเกิดการแพ้อาหารได้เมื่อเวลาผ่านไป
  5. มีประวัติเป็นโรคหืด ซึ่งโรคหืดและการแพ้อาหารมักเกิดร่วมกัน และมักก่อให้เกิดอาการที่มีความรุนแรงมาก

ผลเสียต่อร่างกายเมื่อแพ้อาหาร

อาการของการแพ้อาหารเป็นได้ทุกระบบของร่างกาย ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลเสียต่อร่างกายของเราจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล  ซึ่งอาการแพ้อาหารที่พบกับระบบของร่างกายมีดังนี้

  • ผิวหนัง : คันตามตัว หน้าร้อนและแดง ลมพิษ บวมที่หนังตาและปาก
  • ระบบทางเดินอาหาร : คันปาก ปวดท้อง ปวดมวนท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว
  • ระบบทางเดินหายใจ : คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เสียงแหบ คันในคอ กลืนลำบาก หายใจเสียงดัง หายใจลำบาก ปากเขียว หากรุนแรงจะหยุดหายใจ
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด : ระยะแรกหัวใจเต้นเร็ว ระยะหลังความดันโลหิตจะต่ำลง หัวใจเต้นผิดปกติ หากเป็นมากหัวใจจะหยุดเต้น
  • ระบบประสาท : มึนงง หนักศีรษะ หากเป็นมากจะหมดสติ
  • อื่นๆ : รู้สึกขมปาก ปวดกระเพาะปัสสาวะ กลั้นปัสสาวะไม่ได้

การป้องกันการแพ้อาหาร

เมื่อได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นโรคแพ้อาหาร วิธีปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการแพ้อาหารมีดังนี้

  1.  ต้องรู้ว่าตัวเราเองแพ้อาหารอะไรและหลีกเลี่ยงอาหารชนิดดังกล่าว การงดทานอาหาร เช่น ไข่หรือถั่วลิสง ไม่ได้ส่งผลต่อโภชนาการมากนัก แม้อาหารทั้ง 2 ชนิดจะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมแต่ก็ยังสามารถทานอาหารที่มีโปรตีนอื่นๆ ทดแทนได้ สำหรับผผู้ที่แพ้นม สามารถทานอาหารชนิดอื่นๆ เพื่อทดแทนแคลเซียมจากนมได้เช่นกัน เช่น ผักใบเขียว นอกจากนี้ยังมีอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิดที่มีการเสริมแคลเซียมเข้าไปด้วยซึ่งเราสามารถเลือกซื้อมาทานเพื่อทดแทนได้
  2. ควรตรวจสอบอาหารหรือเครื่องดื่มก่อนที่จะบริโภค เช่น อ่านฉลากอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนผสมของอาหารที่ตนเองแพ้
  3. หากตนเองมีประวัติเกิดอาการแพ้ที่รุนแรง ควรมีสิ่งเตือนให้ผู้อื่นทราบว่าตนเองแพ้อาหาร เช่น สร้อยคอหรือสร้อยข้อมือ ที่แจ้งรายละเอียดอาการและวิธีช่วยเหลือเบื้องต้น เพราะเมื่อเกิดอาการแพ้อาจทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้
  4. ผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดอาการแพ้ที่มีความรุนแรงมาก ควรสอบถามแพทย์ถึงยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) รูปแบบที่พร้อมฉีดได้เอง (Autoinjector) เพื่อพกติดตัวไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
  5. ระมัดระวังตนเองเมื่อรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร ต้องแจ้งให้ทางร้านทราบว่าตนเองไม่สามารถรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ และตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้งว่าอาหารที่สั่งมาแล้วไม่ผสมอาหารที่แพ้ หรือตรวจว่าพาชนะที่ใช้ประกอบอาหารไม่ได้ปรุงอาหารที่ตนเองแพ้มาก่อน
  6. นอกจากนี้ เมื่อไปร้านอาหารเราสามารถจดรายการอาหารที่แพ้ให้กับทางร้าน เพื่อที่ทางพ่อครัวจะได้ทราบและหลีกเลี่ยงการปรุงอาหารนั้นๆ แนะนำให้อ่านเมนูอาหารให้ชัดเจนก่อนสั่งอาหารว่ามีส่วนประกอบของอาหารที่เราแพ้หรือไม่ เพราะอาหารบางเมนูอาจมีส่วนประกอบของอาหารที่อาจกระตุ้นอาการแพ้ของเราได้ เช่น ขนมหวานชนิดมีส่วนผสมของถั่ว อย่างขนมประเภทชีสเค้กทั้งหลาย และซอสปรุงรสบางชนิดมีส่วนผสมของแป้งข้าวสาลีหรือถั่วลิสง เป็นต้น
  7. หากต้องเดินทางท่องเที่ยวหรือไปร่วมงานสำคัญ ควรพกอาหารที่ปลอดภัยต่อตนเองติดตัวไว้
  8. ใช้วิธีการทดสอบรสชาติอาหารก่อนการทานอาหารใดๆ โดยการตักอาหารนั้นในปริมาณเพียงเล็กน้อยแล้วนำไปทาบริเวณริมฝีปาก หากมีอาการชาหรือแสบร้อนนั่นหมายความว่าอาหารนั้นมีส่วนประกอบของอาหารที่คุณแพ้ อย่างไรก็ตามวิธีการนี้อาจใช้ไม่ได้ผลกับอาหารทุกชนิด ดังนั้นจึงไม่ควรใช้เป็นการทดสอบหลัก

หากพบว่าเด็กแพ้อาหาร เพื่อความปลอดภัยของเด็กผู้ปกครองควรปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้

  1. ผู้ปกครองต้องแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ เกี่ยวกับภูมิแพ้อาหารของบุตรหลานว่ามีระดับความรุนแรงเพียงใด ควรบอกวิธีจัดการแบบฉุกเฉินหากเด็กมีอาการแพ้ขึ้นมา และควรฝากยาแก้แพ้หรือยาฉีดอะดรีนารีนไว้กับทางพยาบาลประจำโรงเรียนหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือใส่สายยางรัดข้อมือลูกไว้เพื่อบอกถึงอาหารที่เด็กมีอาการแพ้และวิธีการรักษาเมื่อเกิดอาการแพ้ขึ้นมา
  2. แจ้งให้ผู้ปกครองท่านอื่นทราบ เนื่องจากเด็กเล็กๆ อาจลืมได้ว่าตนเองแพ้อาหารชนิดใดบ้างและเผลอทานอาหารชนิดนั้นไปเมื่อไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน การแจ้งให้ผู้ปกครองของเพื่อนเขาทราบจะช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
  3. เมื่อบุตรหลานเริ่มโตพอที่จะเข้าใจและรู้ว่าตนเป็นภูมิแพ้อาหาร ผู้ปกครองจำเป็นต้องสอนให้เขาหลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่ออาการภูมิแพ้กำเริบ และวิธีการจัดการกับตนเองหากมีอาการแพ้เมื่อเผลอทานอาหารเหล่านั้นเข้าไป
  4. การควบคุมดูแลเรื่องอาหารในปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบวิธีรักษาภูมิแพ้อาหารให้หายขาดได้ แม้ภูมิแพ้อาหารในเด็กเล็กอาจหายไปได้เมื่อเด็กโตขึ้น อย่างการแพ้นมหรือไข่ ขณะนี้ยังไม่มีวิธีแก้อาการแพ้อาหารแม้ว่าเด็กหลายคนจะเติบโตจากบางโรค เช่น การแพ้นมและไข่ วิธีที่ดีและถือว่ามีประสิทธิภาพที่สุดที่จะสามารถป้องกันอาการแพ้อาหารได้คือ การงดรับประทานอาหารที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการแพ้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับการงดทานอาหารของบุตรหลานทุกครั้ง